วันอังคารที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ประวัติ เพชรพระอุมา

     เพชรพระอุมา เป็นนวนิยายแนวผจญภัยที่มีขนาดความยาวมากที่สุดในประเทศไทย และนับว่าเป็นนวนิยายที่มีความยาว มากที่สุดในโลก [1] บทประพันธ์โดย พนมเทียน ซึ่งเป็นนามปากกาของนายฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ ตีพิมพ์เป็นตอน ๆ ในหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ และตีพิมพ์ต่อเนื่องในหนังสือพิมพ์รายวัน ใช้ระยะเวลาในการประพันธ์ยาวนานกว่า 25 ปี [2] โดยพนมเทียนเริ่มต้นการประพันธ์์ เพชรพระอุมาในวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2507 และสิ้นสุดเนื้อเรื่องทั้งหมดในวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2533 รวมระยะเวลาในการ ประพันธ์ทั้งสิ้น 25 ปี 7 เดือน กับ 2 วัน [3]
     เพชรพระอุมาถูกนำมาตีพิมพ์ฉบับรวมเล่มซ้ำใหม่หลาย ๆ ครั้งในรูปแบบของพ็อกเก็ตบุ๊ค จำนวน 48 เล่ม โดยสำนักพิมพ์ ณ บ้าน-วรรณกรรม ลิขสิทธิ์โดยพนมเทียน (เดิมเป็นชนิดปกแข็งจำนวน 53 เล่ม แต่ละเล่มมีความหนาประมาณ 33 ยก หรือ 16 หน้ายก และเมื่อ นำมารวมกันทั้งหมดจะมีความหนาประมาณ 1,749 ยก แบ่งเป็นสามภาคได้แก่ ภาคแรก จำนวน 24 เล่ม ภาคสอง จำนวน 15 เล่มและภาคสาม จำนวน 14 เล่ม แต่ปัจจุบันได้รวบรวมเนื้อหาในแต่ละภาคและลดลงคงเหลือเพียงแค่ 48 เล่ม) [4] แบ่งเป็นสองภาค คือ ภาคแรก จำนวน 24 เล่ม 6 ตอน และภาคสมบูรณ์ จำนวน 24 เล่ม 6 ตอน ตีพิมพ์ฉบับรวมเล่มครั้งแรกในปี พ.ศ. 2538 ครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2541 และทำการปรับปรุงต้นฉบับเดิมพร้อมกับตีพิมพ์ครั้งที่ 3 ในปี พ.ศ. 2544 และตีพิมพ์ครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นครั้งล่าสุดในปี พ.ศ. 2547
     โดยเนื้อเรื่องต่าง ๆ ของเพชรพระอุมานั้น พนมเทียนได้นำเค้าโครงเรื่องมาจาก คิง โซโลมอน'ส มายน์ส (King Solomon's Mines) หรือ สมบัติพระศุลี นวนิยายของเซอร์เฮนรี่ ไรเดอร์ แฮกการ์ด (H. Rider Haggard) ที่ผจญภัยในความลี้ลับของป่าดงดิบภายในทวีปแอฟริกา[5]
จุดเริ่มต้นของเพชรพระอุมา
     พนมเทียนเริ่มต้นการเขียนเพชรพระอุมาในปี พ.ศ. 2507 โดยตกลงทำข้อสัญญากับสำนักพิมพ์ผ่านฟ้าพิทยา (ซึ่งปัจจุบันสำนัก-พิมพ์ผ่านฟ้าพิทยา ได้ยุติกิจการไปแล้ว) ในการเขียนนวนิยายแนวผจญภัยในป่าจำนวนหนึ่งเรื่อง โดยมีข้อกำหนดความยาวของนวนิยายเพียงแค่ 8 เล่มจบเท่านั้น แต่กลับได้รับความนิยมอย่างล้นหลามทำให้ต้องเขียนเพชรพระอุมาเพิ่มเติมต่อจนครบ 10 เล่ม และขอยุติการเขียนตามข้อสัญญา[6] แต่ทางสำนักพิมพ์ผ่านฟ้าพิทยายังไม่อนุญาตให้พนมเทียนยุติการเขียน และได้ขอร้องให้เขียนเพิ่มเติมต่ออีก 5 เล่ม พร้อมกับบอกกล่าวถึงความนิยมของนักอ่านที่มีต่อเพชรพระอุมา ซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจนต้องมีการตีพิมพ์ซ้ำหลาย ๆ ครั้งด้วยกันในระยะปลาย ๆ ของเล่มที่ 10[6]จนสถิติการตีพิมพ์และการจัดจำหน่ายของนวนิยายเรื่องนี้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นและได้รับการตอบรับจากนักอ่านหลาย ๆ รุ่นเป็นอย่างดีในการช่วยขัดเกลาเนื้อเรื่องของเพชรพระอุมา และแจ้งเตือนแก่พนมเทียนถึงชื่อตัวละครหรือสถานที่ที่ปรากฏในเพชรพระอุมาที่มีการผิดพลาด[7]
     เพชรพระอุมาออกวางจำหน่ายในรูปแบบของพ็อกเก็ตบุ๊ค เป็นแบบรายวันคือ 10 วัน ต่อหนังสือ 1 เล่ม และยังคงดำเนินเนื้อเรื่องต่อไปจนถึงเล่มที่ 40 จนกระทั่งมีความยาวถึง 98 เล่ม เนื้อเรื่องก็ยังไม่สามารถจบลงได้[6] จนกระทั่งเพชรพระอุมาฉบับพ็อตเก็ตบุ๊คเล่มที่ 99 ได้ออกวางจำหน่ายในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2513 จึงได้รับการตีพิมพ์ต่อเนื่องใน "จักรวาลรายสัปดาห์" ในปี พ.ศ. 2513 เป็นระยะเวลา 5 ปี และตีพิมพ์ต่อเนื่องใน "หนังสือพิมพ์เดลินิวส์" ในปี พ.ศ. 2518 เป็นระยะเวลาอีก 6 ปี พนมเทียนก็ยังไม่สามารถจบเรื่องราวการผจญกัยในป่าของเพชรพระอุมา จนกระทั่งได้รับการตีพิมพ์ต่อใน "จักรวาลปืน" ในปี พ.ศ. 2525 อีก 8 ปี เรื่องราวทั้งหมดจึงสามารถจบลงได้ในปี พ.ศ. 2533[6]
ระยะเวลาในการเขียน
     เพชรพระอุมาใช้ระยะเวลาในการประพันธ์ยาวนานกว่า 25 ปี[8] ซึ่งระยะเวลาที่ยาวนานนั้นมาจากการที่พนมเทียนเป็นนักเขียนอาชีพและยึดถือเอาสิ่งสำคัญที่สุดของงานเขียนก็คือผู้อ่าน[9] โดยตราบใดที่งานเขียนของตนเองยังคงได้รับความนิยมและมีผู้สนใจติดตามอ่าน ตราบนั้นความสุขใจในการเขียนก็เป็นสิ่งที่มีความสุขมากที่สุดของพนมเทียน [9] ทำให้เนื้อเรื่องของเพชรพระอุมาถูกสร้างสรรค์และเขียนแต่งขึ้นตามจินตนาการ ร่วมกับประสบการณ์ในการเดินป่าอย่างละเอียดลออ จนกระทั่งมีความยาวมากทั้งภาคแรกและภาคสมบูรณ์ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้อ่านได้รับรู้ถึงเหตุการณ์และเรื่องราวต่าง ๆ สามารถจินตนาการ ตามตัวอักษรและสร้างอารมณ์ร่วมในการติดตามเนื้อเรื่องและการดำเนินเรื่องของตัวละครต่าง ๆ ได้[9]
     พนมเทียนนั้นมีวิธีการเขียนเนื้อเรื่องเพชรพระอุมาในรูปแบบการเขียนของตนเอง ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยพยายามเขียนบรรยายถึงลักษณะท่าทาง ตลอดจนอากัปกิริยาต่าง ๆ ของตัวละครทุกตัวที่ปรากฏในเพชรพระอุมา โดยไม่ยอมให้เป็นการเขียนที่เรียกได้ว่าเขียนแบบผ่านเลยไป ทำให้ผู้อ่านที่ติดตามอ่านมาโดยตลอดไม่ได้อรรถรสและความเข้มข้นของเนื้อเรื่อง[9] แต่พนมเทียน จะเขียนโดยแจกแจงอากัปกิริยาทุกขณะและทุกฝีก้าวของตัวละคร เพื่อให้ผู้อ่านสามารถมองเห็นการกระทำต่างหรือการเคลื่อนไหวต่าง ๆ เช่นกระทิงหรือเสือโคร่งถูกรพินทร์ ไพรวัลย์ยิงล้มลง ก็จะเขียนบรรยายเริ่มตั้งแต่รพินทร์และคณะเดินทางพบเจอกับสัตว์ เกิดการต่อสู้หรือติดตามแกะรอยจนถึงประทับปืนและเหนี่ยวไกยิง จนกระทั่งสัตว์นั้นล้มลงเสียชีวิต หรือแม้แต่การพูดจาเล่นลิ้นยั่วยวนกวนประสาทของแงซายและรพินทร์ ไพรวัลย์ จนถึงการพร่ำพรรณนาคำรักหวานซึ้งระหว่างไชยยันต์ อนันตรัยและมาเรีย ฮอฟมัน พนมเทียนก็สามารถถ่ายทอดออกมาได้อย่างดีเยี่ยมจนสามารถทำให้ผู้อ่านได้รับรู้ว่าในขณะนั้นเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบ้าง จนทำให้เพชรพระอุมากลายเป็นนวนิยายที่มีความยาวมากที่สุดในโลก[9]
ความเป็นมาของโครงเรื่อง
      ปกหนังสือนวนิยายเรื่องคิง โซโลมอน'ส มายน์สโครงเรื่องของเพชรพระอุมานั้น พนมเทียนได้เค้าโครงเรื่องมาจากแนว
ความคิดของเรื่องคิง โซโลมอน'ส มายน์ส ของ เซอร์ฯ แฮกการ์ด ซึ่งเป็นเค้าโครงของการผจญภัยเรื่องที่ดีมากเรื่องหนึ่ง[10]
โดยก่อนหน้าที่พนมเทียนจะเขียนเพชรพระอุมาก็ได้มีการวางโครงเรื่องคร่าว ๆ ไว้เช่นเดียวกับงานเขียนอื่น ๆ ซึ่งโครงเรื่อง
คร่าว ๆ ของเพชรพระอุมานั้น พนมเทียนวางเอาไว้เพียงเล็กน้อยโดยกำหนดให้เป็นเรื่องราวการผจญภัยในป่าของนายพราน
ผู้นำทางคนหนึ่งเท่านั้น[10]
     และต่อมาภายหลังได้เขียนเนื้อหาสำคัญของโครงเรื่องเพิ่มเติม จนกลายเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการเดินทางและการผจญภัยของพรานป่าที่รับจ้างวานนำทางในการออกติดตามค้นหาผู้สูญหายยังดินแดนลึกลับและเต็มไปด้วยอาถรรพณ์แห่งป่า พร้อมกับขุมทรัพย์เพชรพระอุมาอันเป็นตำนานเล่าขาน ก่อนออกเดินทางมีกะเหรี่ยงพเนจรมาขอสมัครเป็นคนรับใช้และขอร่วม ติดตามไปกับคณะเดินทางด้วย จนกระทั่งเมื่อบุกป่าฝ่าดงและอันตรายต่าง ๆ ไปถึงจุดหมายปลายทางความจริงก็ปรากฏว่ากะเหรี่ยงลึกลับที่ร่วมเดินทางมาด้วยนั้น กลายเป็นรัชทายาทที่แท้จริงของเมืองมรกตนคร เมืองลับแลที่ไม่ปรากฏในแผนที่ พรานผู้นำทางและคณะเดินทางได้ช่วยกันทวงชิง และกอบกู้ราชบัลลังก์คืนให้แก่กะเหรี่ยงลึกลับได้สำเร็จพร้อมกับได้พบขุม ทรัพย์เพชรพระอุมาที่เป็นตำนานเล่าขานมาแต่โบราณ
     จากโครงเรื่องเดิมของคิง โซโลมอน'ส มายน์ส เพียงแค่ 4 บรรทัดเท่านั้น[10] แต่พนมเทียนสามารถนำมาเขียนเป็นเพชรพระอุมาได้จนจบ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น